กองทัพเมียนมาพุ่งเป้าโจมตีพลเรือน-เรียกฝ่ายต้าน ‘พวกก่อการร้าย’ เพราะสู้กลับ

0
สมาชิกกองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง ที่กลายมาเป็นนักรบกองโจร หลังจากเคยเป็นเพียงผู้ประท้วงมาก่อน ขณะยืนประจำที่แถวหน้าของการสู้รบที่เมืองคอคาเระ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2021 (Reuters)

Source: เฟซบุ๊กโพสต์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2566

รัฐบาลทหารเมียนมาสั่งขับอุปทูตของติมอร์-เลสเตกลับประเทศ หลังประธานาธิบดีโฮเซ่ รามอส-ฮอร์ตา พบกับ ซิน มา อาว รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา ที่เยือนกรุงดิลี เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต เมื่อเดือนที่แล้ว

ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยชูภาพของ ออง ซาน ซู จี ระหว่างเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ เพื่อรำลึกวันครบรอบ 2 ปี การก่อรัฐประหารยึดอำนาจโดยกองทัพ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2023 (AP)

ในเวลานี้ รัฐบาลทหารผู้ปกครองเมียนมาประกาศให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติมีสถานภาพเป็นองค์กรก่อการร้ายอยู่

กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ระบุเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมว่า “การกระทำอันไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้นของรัฐบาลติมอร์-เลสเต ไม่ได้เพียงแต่เป็นภัยให้กับความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศ แต่ยังเป็นการส่งเสริมกลุ่มก่อการร้ายให้ก่อเหตุความรุนแรงในเมียนมาต่อไปด้วย”

แต่สิ่งที่ทางการเมียนมาที่มีกองทัพเป็นผู้นำกล่าวออกมานี้ เป็นความเท็จ

กองกำลังประชาชนเพื่อการป้องกันตนเอง (People’s Defense Force – PDF) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ หรือกลุ่มที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลเงา ถูกกล่าวหาว่าทำการโจมตีด้วยการทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายที่เป็นหน่วยงานของรัฐบาลและทำการสังหารสมาชิกกองกำลังที่ตั้งตนอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาลเมียนมา รวมทั้งผู้ที่ถูกมองว่าทำงานร่วมมือกับรัฐบาล และอีกหลายกลุ่ม

การโจมตีที่ว่านั้นเริ่มต้นหลังกองทัพเมียนมาทำการปราบปรามด้วยการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงต่อต้านการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 โดยหน่วยงาน Independent Investigative Mechanism for Myanmar ขององค์การสหประชาชาติ กล่าวหากองทัพว่า ทำการ “โจมตีอย่างเป็นระบบและเป็นวงกว้างเข้าใส่ประชากรที่เป็นพลเรือน” แล้ว

อย่างไรก็ดี ไม่มีรัฐบาลประเทศใดที่ยอมรับการตั้งสถานภาพของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เป็นกลุ่มก่อการร้ายดังที่รัฐบาลทหารประกาศเลย

ในทางกลับกัน รัฐบาล NUG ประกาศให้รัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สภาบริหารแห่งรัฐ (State Administrative Council) มีฐานะเป็นองค์กรก่อการร้าย ตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2021 โดยอ้างเหตุผลการสังหารหมู่พลเรือนและการมีส่วนร่วมกับการคุมขัง ทรมานและใช้ความรุนแรงทางเพศโดยปราศจากเหตุผลและตามอำเภอใจ

ข้อมูลจากผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (U.N. Special Rapporteur) เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่า สภาบริหารแห่งรัฐ “ไม่ใช่รัฐบาลที่ชอบธรรมและไม่ควรได้รับการยอมรับ หรือทำงานร่วมด้วย” ด้วยเหตุผลว่า รัฐบาลนี้ไม่มี “ความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด” และ “ขาดซึ่งการควบคุมประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ”

ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นยังเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติยอมรับรัฐบาล NUG ในฐานะ “ผู้แทนอันชอบธรรมของประชาชนชาวเมียนมา” ด้วย

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยอมรับรัฐบาล NUG และคณะกรรมาธิการตัวแทน พิทาวซุ ฮลัตตอ (Pyidaungsu Hluttaw) ซึ่งเป็นรัฐสภาพลัดถิ่นที่ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่ต้องหนีออกมาจากเมียนมาหลังเกิดเหตุรัฐประหารในปี 2021 – ว่าเป็น “ผู้แทนหนึ่งเดียวอันชอบธรรมของความปราถนาทางประชาธิปไตยของประชาชนของเมียนมา”

นักวิเคราะห์และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ชี้ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาใช้ยุทธศาสตร์การลงโทษแบบเหมากลุ่มต่อพลเรือนด้วยข้ออ้างว่า บุคคลเหล่านั้นสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธต่อต้านตน และกล่าวด้วยว่า รัฐบาลทหารได้ก่ออาชญากรรมสงครามที่ทำให้เหตุก่อการร้ายที่กล่าวหาต่อกลุ่มต่อต้านตนดูเล็กน้อยกว่ามาก ทั้งในแง่ของวิธีการและระดับความรุนแรง

แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์จากวารสารด้านการทหาร Janes และผู้เชี่ยวชาญด้านกองทัพเมียนมา บอกกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The New York Times ว่า “ยุทธศาสตร์ของกองทัพ(เมียนมา) คือ การลงโทษประชากรพลเรือนต่อสิ่งที่เชื่อว่า เป็นการสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม” และว่า “(วิธีการนั้น) มีทั้ง การเผาหมู่บ้าน การทิ้งระเบิดใส่หมู่บ้าน และการบีบประชากรพลเรือนให้ต้องออกจากหมู่บ้านของตน”

รัฐบาลทหารยังมุ่งเน้นการโจมตีเป็นพิเศษไปยังรัฐชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในเมียนมาที่ต่อต้านตนด้วย

และยิ่งเมื่อรัฐบาลทหารเริ่มสูญเสียความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ในประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ กองทัพก็ยิ่งโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือนหนักขึ้น

หน่วยงาน Independent Investigative Mechanism for Myanmar ที่องค์การสหประชาชาติแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุดในเมียนมา รายงานว่า ในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ปี 2022 และเดือนมิถุนายน ปี 2023 นั้น กองทัพเมียนมาและกองกำลังพลเรือนติดอาวุธที่ทำงานให้มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมสงคราม 3 ประเภท โดย “มีความถี่และความไร้ยางอายที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

อาชญากรรมที่ว่านั้นได้แก่ การทิ้งระเบิดเข้าใส่พลเรือนโดยไม่เลือกหน้าและในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น การสังหารพลเรือนหรือนักรบที่ถูกควบคุมตัวในปฏิบัติการทางทหารของกองทัพ และการเผาที่อยู่อาศัยของพลเรือนและอาคารต่าง ๆ เป็นจำนวนมากอย่างจงใจ

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โวลเกอร์ เทิร์ค ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า สำนักงานของเขาบันทึกตัวเลขสถิติการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกหน้าที่เพิ่มขึ้นถึง 33% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว “โดยมีการโจมตีเพิ่มขึ้นในเป้าหมายพลเรือน ซึ่งรวมความถึง หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลและศาสนสถานต่าง ๆ”

ข้อมูลจากยูเอ็นยังแสดงให้เห็นด้วยว่า รัสเซียเป็นผู้จัดส่งและทำการบำรุงรักษาเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการโจมตีที่ว่า

รัฐบาล NUG ยังกล่าวหารัฐบาลทหารว่า ทำการสังหารพลเรือนไปไม่น้อยกว่า 1,595 คนจากการก่อเหตุสังหารหมู่ 144 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 และเดือนกรกฎาคม ปี 2023

ส่วนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Assistance Association for Political Prisoners (AAPP) ที่มีกลุ่มชนชาวเมียนมาพลัดถิ่นเป็นผู้บริหาร กล่าวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมว่า ประชาชนราว 4,009 คนได้ถูกสังหารไปนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเป็นต้นมา

  • ที่มา: ฝ่าย Polygraph วีโอเอ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *