กลุ่มทุนใหญ่ที่นโยบาย “ทลายทุนผูกขาด” มีผลกระทบ จนอาจทำให้ “ก้าวไกล” ไม่ได้ไปต่อ

0

การเข้าสู่อำนาจของพรรคก้าวไกลหลังการชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา นอกจากจะมีเครือข่ายผู้ทรงอำนาจเดิมเป็นอุปสรรคแล้ว แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งอาจมาจากกลุ่มทุนใหญ่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบาย “ปิดช่องทุนผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า” ของก้าวไกล

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และนพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ขณะนี้ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาเพียงพอในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือ พรรคก้าวไกลยังคงจะเป็นหนึ่งใน “สมการ” จัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ก.ค. พรรคก้าวไกลได้ยื่น “ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ” ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ซึ่งคาบเกี่ยวกับนโยบายที่พรรคก้าวไกลได้หาเสียงไว้ เช่น การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า และ ร่าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า ซึ่งอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่การดำเนินกิจการเกี่ยวข้องอยู่กับนโยบายของภาครัฐ

ผลกระทบทางลบในเชิงจิตวิทยาที่คาดว่าจะมีต่อธุรกิจกลุ่มดังกล่าว ยกตัวอย่าง เหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ค. หนึ่งวันหลังทราบผลการเลือกตั้งว่าพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ตอบรับในเชิงลบทันที โดยติดลบ 19.97 จุด และลดลงต่อเนื่องอีกในวันที่ 16 และ 17 พ.ค.

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเกี่ยวกับการทลายทุนผูกขาดของพรรคก้าวไกล คือ กลุ่มที่เข้าข่ายทุนผูกขาดหรือกลุ่มทุนกึ่งผูกขาด อย่าง ธุรกิจกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มโทรคมนาคม และกลุ่มค้าปลีก ซึ่งตลอดเวลาที่พรรคก้าวไกลยังเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล เกิดการผันผวนของดัชนีหุ้นที่เชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในเสียงสะท้อนจากแวดวงตลาดทุนที่สะท้อนความคิดเห็นไม่ลงรอยต่อนโยบายของพรรคก้าวไกล คือข้อความของนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ที่โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ว่า

“ทำอย่างไรหุ้นถึงจะขึ้น ยกเลิกทุกนโยบายของว่าที่รัฐบาล เขียวทั้งกระดานทันที”

ด้านนักธุรกิจก็จับตานโยบายของก้าวไกลเช่นกัน เช่น นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนในหลายวาระว่า นโยบายดังกล่าวของก้าวไกลสร้างแรงสั่นสะเทือนพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้าข่ายทุนผูกขาด

นอกจากเงื่อนไขทางการเมืองที่กลายเป็นข้อจำกัดสำหรับพรรคก้าวไกลแล้ว แรงเสียดทานจากกลุ่มทุนใหญ่อาจจะกลายเป็นแรงกดดันต่อว่าที่รัฐบาลใหม่ที่พรรคเพื่อไทยรับบทนำแล้วในตอนนี้

บีบีซีไทยประมวลกลุ่มธุรกิจที่เข้าข่ายทุนผูกขาด ที่อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทลายทุนผูกขาดของพรรคก้าวไกล ดังนี้

นโยบายลดการผูกขาด-แข่งขันอย่างเป็นธรรม

ร่าง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าที่สมาชิกพรรคก้าวไกลได้ยื่นต่อสภาไปแล้ว มีเป้าหมายเปิดทางให้มีกลไกในการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจอย่างเสรี และลดการผูกขาด โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องอยู่กับนโยบายของภาครัฐ เช่น ธุรกิจในระบบสัมปทานของรัฐ อาทิ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและกลุ่มก่อสร้าง

ปฏิกิริยาตอบรับจากภาคธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวต่อนโยบายของพรรคก้าวไกล ปรากฏบนกระดานซื้อขายหลักทรัพย์ทันทีหลังทราบผลการเลือกตั้ง เมื่อหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องปรับตัวลดลง

  • กลุ่มธุรกิจพลังงาน

บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายสารัชถ์ รัตนาวะดี อภิมหาเศรษฐีลำดับที่ 5 จากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 395,500 ล้านบาท ราคาหุ้นลดลง 4.50 บาท (-8.57%)

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี อภิมหาเศรษฐีลำดับที่ 5

ขณะที่ บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ราคาหุ้นลดลง 2.50 บาท (-6.33%), บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ราคาลดลง 6.00 บาท (-3.95%), บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ลดลง 0.40 บาท (-10.47%), บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH) ลดลง 1.00 บาท (-2.60%) และ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (SPSC) ลดลง 3.75 บาท (-5.98%)

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของรัฐ เช่น บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ที่ในวันที่ 15 พ.ค. ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 13.93%

ต่อมา ในวันที่มีการโหวตนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ตลาดหุ้นปรับตัวลง หลังรับรู้ความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของพรรคก้าวไกลแล้วระดับหนึ่ง

แต่เมื่อเกิดความไม่แน่นอนที่นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ กลับกลายเป็นผลจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มที่คาดจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจพลังงาน เช่น บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF), บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ , บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ บมจ.บี.กริม เพาเวอร์

อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ที่ จ.ระยอง เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ภายหลังรัฐสภามีมติปัดตกการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ไปแล้ว และเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มุมมองของบรรดานักวิเคราะห์ตลาดทุนหลายสำนักมีความเห็นตรงกันว่า นโยบายของพรรคเพื่อไทยมีความเป็นมิตรต่อตลาดทุนมากกว่า และมีสภาพผ่อนคลายต่อกลุ่มทุนการเมืองด้วย

  • กลุ่มโทรคมนาคม

ตลอดสองปีที่ผ่านมา ดีลควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมของทรูและดีแทค เป็นหนึ่งในประเด็นที่แกนนำพรรคก้าวไกลให้ความสำคัญอย่างมาก ผ่านการขับเคลื่อนคู่ขนานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค

ผลพวงจากการควบรวมกิจการที่สมบูรณ์แล้วในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 กำลังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในตลาดสื่อสารโทรคมนาคมของไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 6.47 แสนล้านบาท จากเดิมที่มีผู้เล่นในตลาด 3 ราย (เอไอเอส, ทรู และดีแทค) มาอยู่ในสภาวะการผูกขาดโดยผู้ขายสองราย (Duopoly)

หากย้อนไปดูผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในธุรกิจกลุ่มโทรคมนาคมหลังทราบผลการเลือกตั้งก็สะท้อนภาพได้ชัดว่า ธุรกิจที่ผูกโยงกับสัมปทานรัฐต่างตอบรับเชิงลบต่อชัยชนะของก้าวไกล เช่น ราคาหุ้นของเอไอเอสลดลง 4.52% ส่วนราคาหุ้นของ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในเอไอเอส ลดลง 6.75% (บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นใหญ่ 41.9% ใน บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์)

ตัวแทนภาคประชาสังคม คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการควบรวมกิจการทรูและดีแทค

ขณะที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ราคาหุ้นปรับตัวลดลงถึง 7.84% ทั้งนี้ ทรูคือบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ อาณาจักรของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ มหาเศรษฐีไทยอันดับหนึ่งที่มีสินทรัพย์สุทธิ 1.18 ล้านล้านบาท ตามการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ประจำปี 2566

ตลอดระยะเวลาสองเดือนในความพยายามจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกล ราคาหุ้นของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวยังคงปรับตัวลดลงและเพิ่มขึ้นสลับกัน เรียกว่ามีความผันผวนสูง

  • กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่

นอกจากดีลยักษ์ระหว่างธุรกิจโทรคมนาคมแล้ว การควบรวมกิจการของกลุ่มค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ก็เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะดีลธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 3.3 แสนล้านระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ธุรกิจของเครืองเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี 2564

ในระหว่างการพิจารณาดีลธุรกิจดังกล่าว โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในขณะนั้น หลายภาคส่วนของสังคมจับตาและตั้งคำถามถึงท่าทีของคณะกรรมการ ในจำนวนนั้นคือ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งมองว่า ดีลนี้กระทบต่อการแข่งขันในตลาดและผู้บริโภค และอาจจะนำไปสู่ “อำนาจเหนือตลาด”

แต่ในที่สุด กขค. มีมติเสียงข้างมากอนุญาตให้การควบรวมกิจการค้าปลีกดังกล่าวเดินหน้าไปได้โดยมองว่าทำให้มี “อำนาจในตลาดเพิ่มแต่ไม่ผูกขาด” จึงออกเงื่อนไขเพิ่มเติม 7 ข้อ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งภาคประชาสังคมมองว่ายังไม่เพียงพอ

ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ ถือว่ามีความสำคัญต่อประชาชนไม่น้อย โดยข้อมูลจากวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ในปี 2564 มูลค่าตลาดค้าปลีกสมัยใหม่อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 16.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี

กลุ่มผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดนี้ ประกอบด้วย กลุ่มเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป, กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์, กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น, กลุ่มเดอะมอลล์ และกลุ่มสหพัฒนพิบูลย์ เป็นต้น

นโยบายกระทบความมั่งคั่ง

ด้วยแนวโน้มการควบรวมกิจการสำคัญของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมืองผ่านกลุ่มทุนนิยมพวกพ้อง ทำให้พรรคก้าวไกลต้องการสร้างกติกาการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผ่านการปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งมาตรการป้องกันการฮั้วประมูล

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่สร้างความกังวลใจมากขึ้นต่อกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง ด้วยการผลักดันการเก็บภาษี 3 แบบ คือ การจัดเก็บภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือ Capital Gain Tax, การเก็บภาษีความมั่งคั่ง สำหรับผู้มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท ส่วนที่เกินตั้งแต่บาทแรกจะเก็บในอัตรา 0.5% และ การทยอยขึ้นภาษีนิติบุคคลทุนขนาดใหญ่ 20% เป็น 23% ขณะที่มีแผนจะปรับลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาด้วย

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

แต่ภายหลังจากความล้มเหลวในการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีให้สมาชิกรัฐสภาโหวตครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ได้ปรากฏเสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทยที่อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้โหวตพิธาไม่สำเร็จว่า ไม่ใช่เรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ของก้าวไกล แต่เป็นโยบายที่ท้าทายกับกลุ่มอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ผู้เชี่ยวชาญคนนั้น คือ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหารและกรรมการ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในวันที่ 15 ก.ค. ว่า

“มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกว่า…มันไม่เกี่ยวกับเรื่องจงรักภักดีอะไรหรอก……พวกXXเล่นจะลดกองทัพ ลดนายพล ลดข้าราชการ ลดกฎหมาย ลดอำนาจ ลดทุนผูกขาด ลดทุกอย่างของอภิสิทธิ์ชน เพิ่มแค่อย่างเดียว คือ ภาษีคนรวย…ใครเขาจะยอมXX”

“สุราก้าวหน้า” ปลดล็อกธุรกิจน้ำเมา 4.3 แสนล้าน?

อีกหนึ่งในชุดกฎหมายปิดช่องทุนผูกขาดของพรรคก้าวไกล คือ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต หรือ ‘สุราก้าวหน้า’ เพื่อปลดล็อกการผลิตสุราของผู้ผลิตรายย่อยและสุราชุมชน โดยแก้ไข ม.153 เพื่อห้ามไม่ให้การขอใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า มีการกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับขนาดกำลังการผลิต กำลังแรงม้าเครื่องจักร รวมทั้งเกณฑ์อื่นที่อาจเปิดช่องให้มีการกีดกันการแข่งขันและผู้ผลิตสุรารายย่อย

พรรคก้าวไกล นำโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ เข้ายื่น 7 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ ปฏิรูปกองทัพ-ปิดช่องทุนผูกขาด เมื่อ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา นายปิติ ภิรมย์ภักดี นักธุกิจทายาทตระกูลภิรมย์ภักดี เจ้าของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ของไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า เขาเห็นด้วยกับนโยบายนี้พร้อมกับยอมรับว่าธุรกิจจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่ต้องปรับแผนและมีการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยธุรกิจอื่น ๆ

สำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในบรรดาตลาดเครื่องดื่มทั้งหมด โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. รายงานวิจัยกรุงศรี ระบุว่า ในปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มในไทยมีปริมาณการบริโภครวม 1.3 หมื่นล้านลิตร มูลค่าประมาณ 7.2 แสนล้านบาท โดยมีตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงถึง 64% หรือราว 473,000 ล้านบาท ในจำนวนนั้น มูลค่าตลาดเบียร์มีสัดส่วนสูงที่สุด 54.3% ตามด้วยสุรา 37.9%

สำหรับตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเกือบทั้งหมด ครอบครองโดยผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ราย คือ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ของกลุ่มตระกูลภิรมย์ภักดี และ บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อภิมหาเศรษฐีไทยลำดับที่ 4 ประจำปี 2564 จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ จากธุรกิจเครื่องดื่มและอสังหาริมทรัพย์ ด้วยสินทรัพย์รวม 3.98 แสนล้านบาท

ข้อมูลวิจัยการตลาดของ Euromonitor ในปี 2563 ตลาดเบียร์ในไทยมูลค่า 2.6 แสนล้านบาท มี บ. บุญรอด บริวเวอรี่ ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง 57.9% ตามมาด้วย บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ 34.3% และ บ. ไทย เอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ 4.7%

แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะดูเหมือนมีช่องว่างการตลาดไม่มากนัก แต่ก็ดึงดูดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องทั้งแบรนด์ต่างประเทศและผู้เล่นหน้าใหม่ของไทยอย่าง บมจ. คาราบาวกรุ๊ป ที่มีแผนจะผลิตเบียร์เข้าสู่ตลาดในปลายปีนี้ หลังจากผลิตและจำหน่ายสุราขาว, วิสกี้, และโซจู มาแล้ว

สำหรับ บมจ. คาราบาวกรุ๊ป มีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท และมีสมาชิกในครอบครัวของนายยืนยง โอภากุล หรือ “แอ๊ด คาราบาว” นักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง ปรากฏรายชื่อ 3 คนเป็นผู้ถือหุ้นใน 10 อันดับแรกด้วย รวมถือหุ้นในสัดส่วน 11.45% จัดได้ว่าเป็น “กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่” แบ่งเป็น

  • นายยืนยง ถือหุ้นเป็นอันดับ 3 ในสัดส่วน 7.05%
  • นางลินจง ภรรยา ถือหุ้นเป็นอันดับ 7 ในสัดส่วน 2.62%
  • น.ส.ณิชา บุตรสาว ถือหุ้นลำดับที่ 10 ในสัดส่วน 1.78%

ในวันที่ 13 ก.ค. หนึ่งวันก่อนการเลือกตั้ง ในระหว่างที่นายยืนยงแสดงคอนเสิร์ตในจังหวัดหนึ่ง เขาได้ประกาศจุดยืนทางการเมืองว่าจะไม่เลือกพรรคก้าวไกล พร้อมกับช่วงหนึ่งในการพูดบนเวทีว่า

“ไม่เป็นไร พิธาต้องผ่านด่านพระอรหันต์ประเทศนี้ ที่ดีไซน์ออกมาแล้วว่าเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การเลือกตั้งของประชาชนเป็นแค่ส่วนหนึ่ง อย่าไปคิดอะไรมาก ถ้าโหวตแล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าไปเสียใจ เรื่องก็เป็นเช่นนี้ เราก็ต้องอยู่ต่อไป”

ที่มา BBC Thai

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *