พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นที่ “อินโดนีเซีย” เมื่อ 25,000 ปีก่อน

2

ซากสิ่งก่อสร้างโบราณขนาดใหญ่ ซึ่งถูกฝังอยู่ใต้ดินบนเนินเขาของเกาะชวาตะวันตกในประเทศอินโดนีเซีย อาจเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างจากหินทั้งก้อนในธรรมชาติ (monolithic architecture) แห่งแรกของโลก โดยล่าสุดนักโบราณคดียืนยันว่า มันมีอายุเก่าแก่ราว 25,000 ปี ซึ่งเป็นสมัยเดียวกับยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดของโลก (Last Glacial Period – LGP)

สิ่งก่อสร้างทรงพีระมิดนี้ ตั้งอยู่บนเนินเขา “กุนุง ปาดัง” (Gunung Padang) หรือ “ภูเขาแห่งความรู้แจ้ง” คาดว่าถูกสร้างขึ้นก่อนที่มนุษย์จะรู้จักเกษตรกรรม และก่อนกำเนิดแหล่งอารยธรรมแรกของโลกหลายพันปี แม้แต่มหาพีระมิดแห่งกิซาที่อียิปต์ และสโตนเฮนจ์ที่สหราชอาณาจักร ก็ยังมีอายุน้อยเพียง 1 ใน 5 ของพีระมิดลึกลับแห่งอินโดนีเซียเท่านั้น

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archaeological Prospection เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่าทีมนักโบราณคดีจากสำนักวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติอินโดนีเซีย (BRIN) และทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งบันดุง (ITB) ได้เผยหลักฐานจากการศึกษาวิเคราะห์ที่ยาวนานกว่าสิบปี ซึ่งยืนยันว่าโครงสร้างคล้ายพีระมิดบนเนินเขากุนุงปาดัง มีอายุเก่าแก่ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ และมีความเป็นไปได้สูงว่ามันคือพีระมิดขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก

กุนุงปาดังถือเป็นเนินเขาศักดิ์สิทธิ์ของคนในท้องถิ่น ส่วนยอดมีลักษณะคล้ายพีระมิดขั้นบันได (stepped pyramid) โดยมีลานระเบียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สูงขึ้นไปจนถึงยอดเขา บริเวณโดยรอบยังมีแท่งหินที่ถูกตัดเป็นทรงสี่เหลี่ยมยาว วางกองระเกะระกะอยู่เกลื่อน ซึ่งอาจเป็นเศษหินที่คนโบราณสกัดมาใช้ในการก่อสร้าง

ทีมผู้วิจัยระบุว่า ความมหัศจรรย์ของพีระมิดแห่งกุนุงปาดังอยู่ที่โครงสร้างอันซับซ้อน ซึ่งเกิดจากการเจาะสกัดหินลาวาก้อนใหญ่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับมอดแล้ว จนเกิดโพรงลึกเข้าไปในแกนกลางของภูเขาไฟ โดยมีการแบ่งส่วนของพีระมิดเป็นหลายชั้น จากยอดเขาลึกลงไปถึงใต้เนินเขา 30 เมตร ทั้งมีสิ่งก่อสร้างย่อย ๆ ที่เป็นส่วนประกอบรวมกันทั้งหมด 4 หน่วย (unit) ซึ่งชั้นลึกสุดใต้ดินมีห้องโถงขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ และอาจมีโบราณวัตถุล้ำค่าบรรจุอยู่ภายในก็เป็นได้

ผลการตรวจหาอายุของดินและหินในโบราณสถานดังกล่าวด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี พบว่ากุนุงปาดังอาจถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 16,000 – 27,000 ปีก่อน นับว่าเก่าแก่ยิ่งกว่าวิหาร Göbekli Tepe สิ่งก่อสร้างจากหินก้อนยักษ์ในธรรมชาติที่ประเทศตุรกี ซึ่งมีอายุราว 11,000 ปี

ทีมผู้วิจัยยังทำการสำรวจด้วยอุปกรณ์ขุดเจาะ, เรดาร์สแกนแบบทะลุทะลวงชั้นดิน (GPR), อุปกรณ์สร้างภาพจากคลื่นแผ่นดินไหว (ST) และเครื่องถ่ายภาพรังสีเอกซ์ที่แสดงรายละเอียดเป็นภาพตัดขวางของโครงสร้างที่ถูกฝังอยู่ข้างใต้ ทำให้พบว่าโครงสร้าง 4 หน่วยของพีระมิดแห่งกุนุงปาดัง ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกัน โดยมีการทิ้งช่วงงานก่อสร้างไปนานนับพันปีหลายครั้ง ทั้งมีความเป็นไปได้ว่า มีการฝังกลบโครงสร้างในหน่วยเก่า ก่อนจะต่อเติมโครงสร้างที่เป็นหน่วยใหม่ด้วย

โครงสร้างในหน่วยที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นลึกสุด ถูกสร้างขึ้นมาก่อนในช่วงที่ตรงกับยุคน้ำแข็ง LGP กว่าหมื่นปีที่แล้ว ต่อมาโครงสร้างหน่วยที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยแท่งหินคล้ายเสาจำนวนมาก ถูกสร้างขึ้นระหว่าง 7,900 – 6,100 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุคหินเก่า (Paleolithic) ที่มนุษย์ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และหาเก็บของป่า ยังไม่รู้จักการใช้เครื่องมือก่อสร้างที่ซับซ้อน

หลังจากทิ้งช่วงไปอีกราวหนึ่งพันปี ทีมวิศวกรปริศนาจากยุคโบราณอีกคณะหนึ่งได้สร้างหน่วยที่ 2 ขึ้น เมื่อสมัยราว 6,000 – 5,500 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนการต่อเติมครั้งสุดท้ายเป็นการก่อสร้างหน่วยที่ 1 เมื่อราว 2,000 – 1,100 ปี ก่อนคริสตกาล

สำหรับสาเหตุที่มีการฝังกลบโครงสร้างหน่วยเก่าก่อนต่อเติมหน่วยใหม่นั้น ทีมผู้วิจัยสันนิษฐานว่า อาจเป็นการอำพรางตัวตนที่แท้จริงของโบราณสถานแห่งนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาส่วนดั้งเดิมให้รอดพ้นจากการถูกทำลายหรือการเสื่อมสภาพตามกาลเวลา

ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า ผลการศึกษาหลักฐานที่รวบรวมเอาไว้ได้ในขณะนี้ เพียงพอที่จะชี้ชัดว่ากุนุงปาดังไม่ใช่เนินเขาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งหมด แต่มีสิ่งก่อสร้างจากฝีมือมนุษย์รวมอยู่ด้วย โดยเนินเขาแห่งนี้จะต้องมีความสำคัญยิ่งยวดบางประการ ที่ดึงดูดให้มีผู้เข้ามาก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พีระมิดหลายต่อหลายครั้ง ตลอดช่วงระยะเวลาหลายพันปี

อย่างไรก็ตามทีมผู้วิจัยยังไม่ทราบว่า ที่แท้แล้วกุนุงปาดังคืออะไร และใครกันแน่คือคนโบราณผู้เปี่ยมอัจฉริยภาพทางวิศวกรรมศาสตร์ ผู้สามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์อย่างกุนุงปาดังขึ้นได้ด้วยฝีมือช่างอันละเอียดประณีต ซึ่งเหลือเชื่อว่าจะเป็นฝีมือของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์

เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ ข่าวคราวเรื่องการค้นพบพีระมิดแห่งกุนุงปาดังที่มีอายุเก่าแก่หลายหมื่นปี ถูกมองว่าเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงหรือไม่ก็มีความผิดพลาดในการตรวจหาอายุของวัตถุโบราณ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยมองว่า นี่คือหลักฐานของของอารยธรรมโบราณที่มีความเจริญรุ่งเรืองและก้าวล้ำทางเทคโนโลยียิ่งกว่ามนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งอารยธรรมที่สูงส่งนี้เคยครองโลกในยุคดึกดำบรรพ์เป็นเวลานานหลายล้านปี ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของมนุษย์

แนวคิดพิสดารเรื่องอารยธรรมของสิ่งมีชีวิตเหนือมนุษย์ หรืออารยธรรมของเอเลียนที่อพยพมายังโลกซึ่งหายสาบสูญไปดังกล่าว เรียกว่า “สมมติฐานไซลูเรียน” (Silurian Hypothesis) ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พีระมิดแห่งกุนุงปาดังเข้าข่ายร่องรอยของอารยธรรมชั้นสูงยุคโบราณนี้หรือไม่

ในอนาคตอันใกล้นี้ ทีมผู้วิจัยของอินโดนีเซียมีแผนที่จะขุดเจาะลึกลงไปใต้เนินเขากุนุงปาดัง จนถึงห้องโถงใหญ่ในหน่วยที่ 4 ซึ่งกว้างถึง 15 เมตร และมีเพดานสูงถึง 10 เมตร เพื่อให้เกิดรูที่สามารถหย่อนกล้องลงไปสำรวจภายในได้ โดยคาดว่าอาจมีโบราณวัตถุบางอย่าง ที่นักโบราณคดีอาจจะใช้เป็นเบาะแส ในการค้นหาประวัติความเป็นมาที่ถูกต้องของพีระมิดลึกลับแห่งนี้

People began building Gunung Padang during the Palaeolithic period.
Image credit: ghanimurtafa/Shutterstock.com

2 thoughts on “พีระมิดเก่าแก่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นที่ “อินโดนีเซีย” เมื่อ 25,000 ปีก่อน

  1. I loved you even more than you’ll say here. The picture is nice and your writing is stylish, but you read it quickly. I think you should give it another chance soon. I’ll likely do that again and again if you keep this walk safe.

  2. I loved you better than you would ever be able to express here. The picture is beautiful, and your wording is elegant; nonetheless, you read it in a short amount of time. I believe that you ought to give it another shot in the near future. If you make sure that this trek is safe, I will most likely try to do that again and again.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *