‘ทักษิณกลับบ้าน’ สัญญาณเพื่อไทยทุ่มหมดหน้าตักจัดตั้งรัฐบาล

0
อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2019

สื่อต่างประเทศรายงานการประกาศแผนกลับบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ตามการเปิดเผยของบุตรสาวเมื่อวันพุธ และเป็นการกลับมาของอดีตนายกฯ ที่ลี้ภัยในต่างแดน ในช่วงที่ประเทศบ้านเกิดกำลังเผชิญกับทางตันทางการเมืองหลังเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม

รอยเตอร์รายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ เปิดเผยเมื่อวันพุธผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่านายทักษิณจะกลับมาในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ด้านเอพีรายงานว่าสื่อไทยต่างรายงานการวิดีโอคอลช่วงสั้น ๆ ของนายทักษิณระหว่างที่ผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยร่วมฉลองวันเกิดให้กับเขาที่จังหวัดอุบลราชธานีว่านายทักษิณประกาศว่าจะกลับประเทศไทย “ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้”

ฝั่งพรรคเพื่อไทยปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อการกลับมาของนายทักษิณ และว่าทางพรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และที่ผ่านมาอดีตนายกฯ ผู้นี้ประกาศว่าจะกลับไทยมาหลายครั้งก่อนจะเปลี่ยนใจไปในที่สุด ขณะที่รอยเตอร์รายงานด้วยว่า นายทักษิณกล่าวกับผู้สนับสนุนอีกว่า “เศรษฐกิจจะพัฒนาขึ้นอย่างมากภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย”

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนักธุรกิจโทรคมนาคม ใช้เวลาหลายปีในการพยายามทัดทานการแทรกแซงของกองทัพในรัฐบาลที่นำโดยพรรคแนวประชานิยมของเขาก่อนจะถูกโค่นล้มจากรัฐประหารในปี 2006 นายทักษิณลี้ภัยจากประเทศไทย 2 ปีจากนั้นเพื่อเลี่ยงคดีทุจริตที่เขากล่าวว่าเป็นคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง

ด้าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่านายทักษิณ ในวัย 74 ปีผู้นี้จะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยกล่าวว่า “ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ตามปกติเมื่อเครื่องบินลงจอด เขา(ทักษิณ)ต้องไปขึ้นศาลและรับฟังคำตัดสิน”

ทุ่มหมดหน้าตัก

น.ส.แพทองธาร เป็นสมาชิกอาวุโสของพรรคเพื่อไทยและหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนมาเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตามหลังพรรคก้าวไกล และทั้งสองพรรคยังร่วมมือกันพยายามจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 6 พรรคร่วม ซึ่งถูกสว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพและนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมกีดขวางเส้นทางจัดตั้งรัฐบาลอยู่ในขณะนี้

แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

ทั้งนี้ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างในยุคการปกครองของกองทัพ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของไทยต้องเกิดขึ้นในการประชุมสภาที่มีทั้งส.ส.และสว. ซึ่งเป็นระบบการเลือกนายกฯ ที่ผู้วิจารณ์มองว่าเป็นการมอบอำนาจให้แก่สว.เพื่อปิดโอกาสพรรคที่ชนะการเลือกตั้งที่ได้เสียงข้างมากในสภาในการจัดตั้งรัฐบาล

ในการเลือกตั้งเมื่อกว่า 2 เดือนก่อน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรคซึ่งได้ที่นั่งในสภามากที่สุดจากแรงหนุนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนรุ่นใหม่ ถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากแนวทางของพรรคการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์

ระหว่างพรรคก้าวไกลเผชิญอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคเพื่อไทยที่ได้เสียงสนับสนุนเป็นอันดับสอง พยายามเรียกแรงสนับสนุนในสภาเพื่อให้ได้จัดตั้งรัฐบาล และนักวิเคราะห์บางรายมองว่าพรรคเพื่อไทยอาจต้องเจรจาข้อตกลงกับคู่แข่งเก่าที่สนับสนุนกองทัพเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้

เศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย   แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะกับรอยเตอร์ว่า การกลับมาของนายทักษิณ คือสัญญาณที่มีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทยได้หาทางที่จะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้แล้ว แต่อาจต้องตัดสัมพันธ์กับพรรคก้าวไกลเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เกิดขึ้น โดยกล่าวว่า “เพื่อไทยกำลังเทหมดหน้าตัก” และ “พวกเขาจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลและโดดเดี่ยวก้าวไกล และส่วนหนึ่งของข้อตกลงก็คือการพาทักษิณกลับบ้าน”

ฝั่งพรรคก้าวไกล ระบุว่าการกลับมาของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็น “ประเด็นส่วนตัว” และไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ การประชุมสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ถูกเลื่อนออกไปในสัปดาห์นี้เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับญัตติห้ามการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทางวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าตนหวังว่าศาลรธน.จะดำเนินการอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับคำร้องนี้และเปิดทางให้มีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้

ที่มา: รอยเตอร์และเอพี และ VOA

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *