แนวคิด…”ไฮเปอร์ลูป” เดินทางเร็ว-ถูกแถมประหยัด

0

 

แรงบันดาลใจเรื่อง ไฮเปอร์ลูปŽ เกิดขึ้นจากการที่ทางการรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา นำเสนอแนวความคิดเรื่องการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮสปีด เทรน ขึ้นมา เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง 2 เมืองใหญ่ระดับมหานครในรัฐนี้อย่างลอสแองเจลิสกับซานฟรานซิสโก

วงเงินงบประมาณที่รัฐแคลิฟอร์เนียประมาณเอาไว้ สำหรับระยะทางไม่ถึง 1,500 กิโลเมตร ในตอนนั้นคือราว 70,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท

อีลอน มุสก์ นักคิด นักธุรกิจระดับมหาเศรษฐีเชื้อสายแอฟริกาใต้ เจ้าของโครงการธุรกิจไม่เหมือนใครไม่มีใครเหมือนอย่าง สเปซเอ็กซ์Ž (โครงการเพื่อการท่องเที่ยวอวกาศ) และ เทสลาŽ (โครงการรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อน) บอกเอาไว้ในตอนที่ได้ยินเรื่องนี้ว่า เขาเชื่อว่าจะสามารถคิดโครงการเพื่อการขนส่งมวลชนที่ มีประสิทธิภาพŽ มากกว่า และ ต้นทุนถูกกว่าŽ ถึง 1 ใน 10 เพื่อใช้ทดแทนโครงการไฮสปีด เทรน ที่ว่านั้นได้ 

1 ปีให้หลัง รายละเอียดของแนวคิดของโครงการที่ว่านี้ก็เปิดเผยออกมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าที่เขาพูดนั้นสามารถเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ มุสก์แถลงเอาไว้ว่า ต้นทุนการก่อสร้างทั้งหมดในโครงการนี้ รวมทั้งสิ้่นแค่ 6,000 ล้านดอลลาร์ ไม่ถึง 1 ใน 10 ของงบประมาณที่รัฐแคลิฟอร์เนียเสนอเอาไว้ด้วยซ้ำไป

เขาเรียกระบบขนส่งมวลชนที่คิดค้นขึ้นใหม่นี้ว่า ไฮเปอร์ลูปŽ

อีลอน มุสก์ บอกว่า ไฮเปอร์ลูปŽ ที่เขาคิดค้นขึ้นมานี้เหมาะสำหรับการขนส่งผู้โดยสารในระยะทางระหว่างเมืองสองเมืองที่การจราจรแออัดทั้งคู่ซึ่งอยู่ห่างจากกันไม่เกิน 1,500 กิโลเมตร น้อยกว่าไม่เป็นไร แต่ไม่ควรเกินกว่านั้น เหตุผลก็คือ เกินกว่านั้นเขาไม่แน่ใจว่าการเดินทางด้วยระบบไฮเปอร์ลูป นี้จะ ถูกกว่าŽ และ เร็วกว่าŽ ระบบอื่น

ไฮเปอร์ลูป เป็นระบบการส่ง พ็อดŽ หรือ ตู้โดยสารŽ ความเร็วสูง ขนาดความกว้างราว 2 เมตร ไปตามเส้นทางที่ทำเป็น ท่อŽ บรรจุอากาศแรงดันต่ำ จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง พ็อดŽ ที่ว่านี้ไม่ได้แล่นไปบนราง หรือติดตั้งล้อเอาไว้ แต่อาศัยอากาศแรงดันต่ำที่ว่านั้น พยุงŽ ให้อยู่ตรงกลางท่อ ที่นอกจากจะลดแรงเสียดทานลงมากแล้วยังให้ความรู้สึกนุ่มสบายกว่าอีกต่างหาก

ในความคิดของ อีลอน มุสก์ การเดินทางด้วยพ็อดไปตามท่อที่ว่านี้จะให้ความรู้สึกคล้ายกับนั่งเครื่องบินมากกว่าอย่างอื่น เพราะตอนเริ่มต้นจะมีแรงฉุดเร่งสูง แต่พอความเร็วถึงระดับหนึ่งก็จะให้ความรู้สึกเหมือนลอยอยู่เฉยๆ ไม่ได้เคลื่อนที่แต่อย่างใด

ลีเนียร์ อีเลคทริค มอเตอร์Ž คือมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้กับพ็อด เหมือนเครื่องยิงอนุภาค แต่พอถึงระดับ ใกล้ความเร็วเสียงŽ ก็ปล่อยให้ธรรมชาติทางกลศาสตร์ทำหน้าที่ของมัน ที่สำคัญก็คือ ที่มาของพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้กับมอเตอร์ดังกล่าวนี้ มาจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งไว้บนหลังคาของท่อคู่ขนานสองท่อสำหรับการเดินทาง ไปและกลับ

ตามแนวคิดนี้ ต้นทุนหลักของระบบจะเป็นต้นทุนในการสร้าง ท่อŽ สำหรับเป็นเส้นทาง ซึ่งจะทอดยาวคู่ขนานไปกับทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 5 เพราะตัว พ็อดŽ ต้องเบามากๆ เสาสำหรับใช้รองรับท่อให้อยู่เหนือพื้นดินจึงใช้เป็น ไพลอนŽ เดี่ยวได้ ลดค่าก่อสร้างลง เพิ่มค่าความต้านทานแผ่นดินไหวได้มากขึ้น แถมยังลดค่าใช้จ่ายในการเวนคืนลงได้อีกต่างหาก

มุสก์อ้างว่า แนวคิดเรื่องไฮเปอร์ลูป ไม่เพียงต้นทุนถูก เดินทางได้เร็วกว่า สบายกว่า ยังลดอุบัติเหตุลงได้มาก แถมยังประหยัดพลังงานในระยะยาวอีกต่างหาก

เขาไม่สงวนลิขสิทธิ์แนวคิดนี้ แต่กลับท้าทายให้ใครต่อใครหาทางนำไปใช้จริง บอกด้วยว่า ถ้ามีขึ้นจริงสักที่ ไม่ว่าที่ไหนในโลก เขาจะดีใจมากอีกต่างหาก

หน้า 9,มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม2556

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *